กระบวนการเสริมสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมร่วมกันของชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนบ้านภูผา ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง(The Process of Consciousness Promotion for Common Benefits of the Community : A Study of Ban Phubha, Tambon Komark, Pak Payoon District Pattaung Province)
บทความนี้มีเจตนามุ่งนำเสนอกระบวนการเสริมสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมร่วมกัน และปัญหา อุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะและความต้องการในกระบวนการเสริมสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมร่วมกันของชุมชน ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ได้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพในเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเน้นการสัมภาษณ์เจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ (Key-informant) จากชุมชน จำนวน 15 คน ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ โดยใช้หลักตรรกะเทียบเคียงแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ควบคู่บริบท (Context)
สำหรับผลการศึกษา พบว่า ลักษณะนิสัยของผู้ที่มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ประกอบด้วยลักษณะผู้ที่มีความเสียสละ อดทนอดกลั้น แบ่งปัน เห็นแก่ส่วนรวม ซื่อสัตย์ ไม่หวังผลตอบแทน มีความเมตตากรุณา เคารพกฎกติกา และให้โอกาสผู้อื่น โดยคิดว่าทำเพื่อชุมชน เพื่อลูกหลานในอนาคต ร่วมทำกิจกรรมของกลุ่มต่างๆในชุมชน ร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเลสาบ และได้แบ่งปัน พูดคุย แลกเปลี่ยนกัน เหตุผล ความสำคัญ ความจำเป็นของการเสริมสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมนั้นทำให้ชุมชนเกิดความสามัคคี เกิดการร่วมมือ ประสบผลสำเร็จและเกิดอาชีพที่ยั่งยืน กระบวนวิธีการเสริมสร้างนั้น ใช้วิธีชักชวนไปอบรม สัมมนา รวมทั้งพยายามพูดคุยให้ฟังบ่อย ๆ บอกกล่าวถึงประโยชน์และสิ่งที่ได้รับ รวมถึงสอนลูกหลาน เทคนิคการเสริมสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมร่วมกันนั้น คือการปฏิบัติเป็นแบบอย่าง พยายามพูดคุยให้ฟังบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ชักชวนเข้ากลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน และเป็นผู้ให้ พฤติกรรมที่แสดงออกถึงการเสริมสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมร่วมกัน คือร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ร่วมทำกิจกรรมกลุ่ม ปักเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ รวมถึงการจับสัตว์น้ำตามขนาดเท่านั้นทำความเข้าใจกับคนในชุมชนและออกกฎระเบียบกติกา สถาบันที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเสริมสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมร่วมกัน คือสถาบันครอบครัวสถาบันการศึกษา สถาบันทางศาสนาและสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนที่มีความเอื้ออาทร วิธีการเสริมสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมร่วมกันของชุมชน ใช้วิธีการสอนในแต่ละวัยต่างกัน สำหรับวัยเด็ก พ่อแม่ประพฤติเป็นแบบอย่าง สนับสนุนและปลูกฝัง พยายามพูดซ้ำ ๆ บ่อย ๆ และ
ปฏิบัติตามหลักคำสอนศาสนา ส่วนวัยเรียน คุณครูผู้สอนอบรมสั่งสอนแทรกเนื้อหาและพาเข้าร่วมกิจกรรม และวัยผู้ใหญ่ให้ตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน พยายามพูดซ้ำ ๆ บ่อย ๆ และปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง ผู้รับผิดชอบในแต่ละวัยนั้น วัยเด็กควรเป็นครอบครัวและมัสยิด วัยเรียนควรเป็นครอบครัวและโรงเรียน และวัยผู้ใหญ่ควรเป็นครอบครัวและชุมชน
ปัญหา อุปสรรค และความต้องการในกระบวนการเสริมสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมร่วมกันพบว่า เกิดจากความไม่เข้าใจของคนในชุมชนในสิ่งที่ตนเองปฏิบัติ ความเห็นแก่ตัว ความพร้อมของแต่ละคนและ งบประมาณ
ชื่อผู้แต่ง : วิชชุตา แก้วศิริ (Wichchuta Keawsiri) คำสำคัญ : กระบวนการเสริมสร้างจิตสำนึกส่วนรวมร่วมกัน ;The Process of Consciousness Promotion, Common Benefits ประเภท : การพัฒนาสังคม พ.ศ. : 2556 ปีที่ : 1 ปีที่ : 2 |