จากวิกฤตเศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2540 ถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลก พ.ศ. 2551: การศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างและผลกระทบต่อประเทศไทยในแง่มุมของเศรษฐกิจ ธุรกิจ และบรรษัทภิบาล
การวิจัยนี้ศึกษาเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจไทย (พ.ศ. 2540) และวิกฤตเศรษฐกิจโลก (พ.ศ. 2551) ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจไทย ทั้งภาคเศรษฐกิจจริง และภาคการเงิน จากการศึกษาเปรียบเทียบภาพรวม พบว่า วิกฤต พ.ศ. 2540 ในประเทศไทยมีภาวะก่อน (preconditions) หลายปัจจัย ได้แก่ การใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งเกินความเป็นจริง ผลผลิตที่ตกต่ำ ความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกที่ตกต่ำ มีการเก็งกำไรมาก ทั้งในตลาดหุ้นและที่ดิน และไม่มีกลไกบรรษัทภิบาลที่ดีในการกำกับดูแลธุรกิจทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจโลก พ.ศ. 2551 ได้มีผลกระทบกับประเทศไทยในระยะเวลาสั้น เศรษฐกิจและธุรกิจไทยกลับมาเข้มแข็งในปีถัดมา การศึกษา พบว่า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบๆ ปี พ.ศ. 2551 กลไกของบรรษัทภิบาลมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับผลประกอบการและศักยภาพของธุรกิจ ธุรกิจที่มีบรรษัทภิบาลเข้มแข็งจะมีผลประกอบการและศักยภาพที่ดี อีกทั้งความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ การศึกษานี้ได้พบว่า ในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก บริษัทที่อยู่ในกลุ่มของบริษัทที่มีความเข้มข้นของบรรษัทภิบาลมีสถานะทางการเงิน (Financial Status) ดีกว่าบริษัทที่ไม่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว ดังนั้นบรรษัทภิบาลจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ธุรกิจเข้มแข็งและอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่มีความตึงเครียดทางการเงิน (Financial Distress)การพัฒนาการกำกับดูแลกิจการหรือบรรษัทภิบาลจึงถือได้ว่าเป็นการปฏิรูปทางการเงิน (Financial Reform) ที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 ทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามมา ที่สำคัญดังเช่นในปี พ.ศ. 2551 ชื่อผู้แต่ง : เสกศักดิ์ จำเริญวงศ์ (Seksak Jumreornwong) คำสำคัญ : วิกฤตเศรษฐกิจ, ศักยภาพธุรกิจ, บรรษัทภิบาล ประเภท : บริหารธุรกิจ พ.ศ. : 2558 ปีที่ : 55 ปีที่ : 1 |